Tencent Cloud
Tencent Cloud

‘เทนเซ็นต์ คลาวด์’ เปิดดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่สองในไทย เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานรับสมาร์ทโซลูชันไทยโต

23 มิ.ย. 2021
‘เทนเซ็นต์ คลาวด์’ เปิดดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่สองในไทย เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานรับสมาร์ทโซลูชันไทยโต

10 มิถุนายน 2564 (กรุงเทพฯ) – เพื่อตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายผ่านระบบปฏิบัติการคลาวด์ที่กำลังเติบโตขึ้นทั่วโลก เทนเซ็นต์ คลาวด์ กลุ่มธุรกิจคลาวด์ภายใต้เทนเซ็นต์ ประกาศเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Center) แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ แฟรงก์เฟิร์ต และโตเกียว ซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการโซนที่สอง (Second availability zone – AZ2) และในฮ่องกง เป็นพื้นที่ให้บริการโซนที่สาม (Third availability zone – AZ3) โดยการเพิ่มศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ ทำให้เทนเซ็นต์ คลาวด์ สามารถให้บริการในทั้งหมด 27 ภูมิภาค และ 66 พื้นที่ให้บริการทั่วโลก ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทั่วโลก

ข้อมูลจาก Frost & Sullivan พบว่าในปี 2563 กว่า 52% ขององค์กรทั่วโลกมีการใช้บริการคลาวด์ และอีก 34% มีแนวโน้มจะเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ภายในสองปีข้างหน้า นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดจาก Gartner ยังคาดว่าจะมีการใช้จ่ายด้านบริการคลาวด์สาธารณะของผู้ใช้งานทั่วโลก เพิ่มขึ้น 23.1% ในปี 2564 เป็น 332.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมคลาวด์ เทนเซ็นต์ คลาวด์ จึงเร่งสร้างการเติบโตเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

มร. ชาง ฟู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จํากัด กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมคลาวด์ทั่วโลกมีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การปรับใช้ระบบปฏิบัติการคลาวด์ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการด้านโซลูชันคลาวด์อัจฉริยะขององค์กรต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เทนเซ็นต์ คลาวด์ เล็งเห็นความสำคัญในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบปฏิบัติการคลาวด์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อส่งมอบบริการและผลิตภัณฑ์คลาวด์ที่หลากหลายมากขึ้นให้กับลูกค้า รวมถึงการเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำที่มีความแข็งแกร่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพให้กับธุรกิจต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมสุขภาพ และอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง เป็นต้น”

“เพื่อให้สามารถรองรับการนำเสนอเทคโนโลยีอันล้ำสมัยจากเทนเซ็นต์ คลาวด์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราจึงได้เปิดศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตในไทยแห่งที่สองขึ้น โดยศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ถือเป็นศูนย์ข้อมูลระดับ Tier 3 ตั้งอยู่ในทำเลศูนย์กลางเครือข่ายที่สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ มาพร้อมกับกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางระหว่างเกทเวย์ (Border Gateway Protocol: BGP) ที่มีความน่าเชื่อถือและคุณภาพสูง ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ทั้งใน และต่างประเทศ”

จุดเด่นของศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ คือ ประสิทธิภาพในการประมวลผลข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้น มีความยืดหยุ่น ที่มาจากการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ผสานกับการทำงานของ Graphics Processing Unit (GPU) ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพ ในการประมวลผลต่างๆ และสร้างความยืดหยุ่นในการใช้งาน ซึ่งอุปกรณ์ และเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาติดตั้งเพื่อช่วย ให้การทำงานดีขึ้น รวดเร็วขึ้น และประหยัดพลังงาน รองรับการให้บริการโซลูชันอัจฉริยะต่างๆ จากเทนเซ็นต์ คลาวด์ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) Internet of Things (IoT) ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เทคโนโลยีการจดจำตัวอักษร หรือ Optical Character Recognition (OCR) บริการถ่ายทอดวิดีโอไลฟ์ (LVB) เป็นบริการสำหรับการถ่ายทอดไฟล์วิดีโอ/ไฟล์เสียงไลฟ์แบบต่อเนื่อง เป็นต้น

การเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งใหม่ในกรุงเทพฯ แฟรงก์เฟิร์ต ฮ่องกง และโตเกียว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างการเติบโตด้านโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของเทนเซ็นต์ คลาวด์ที่แข็งแกร่ง และยังสะท้อนให้เห็นพัฒนาการที่สำคัญด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจในการขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงปลายปี 2563 เทนเซ็นต์ คลาวด์ได้เปิดพื้นที่ให้บริการโซนที่สองในเกาหลี ตามด้วยการเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งแรกในอินโดนีเซีย และพื้นที่ให้บริการโซนที่สามในสิงคโปร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีกำหนดจะเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งที่สองในอินโดนีเซีย และแห่งแรกในบาห์เรนภายในสิ้นปีนี้ “เทนเซ็นต์ คลาวด์ มั่นใจว่าการขยายศูนย์ข้อมูลแห่งที่สองในประเทศไทย จะช่วยสนับสนุนให้องค์กรทุกขนาดสามารถปรับใช้ระบบปฏิบัติการคลาวด์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับองค์กรต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้จะช่วยยกระดับและผลักดันศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต” มร. ชาง กล่าวสรุป

แชร์บทความนี้